Rotavirus
โรต้าไวรัส (Rotavirus)
โรคอุจจาระร่วงหรือที่มักเรียกกันว่า
“โรคท้องร่วง” มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ
ทั้งที่เกิดจากแบคทีเรียต่างๆ เช่น ซาโมเนลล่า (Salmonella) วิบริโอ
พาราฮีโมไลติคัส (Vibrio parahaemolyticus) ฯลฯ และไวรัส
โรต้าไวรัส (Rotavirus) เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็กมาก
เมื่อส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะมีลักษณะเหมือน วงล้อ
ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคท้องร่วงเฉียบพลัน
โดยเฉพาะในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยอายุที่พบบ่อย คือ
เด็กที่มีอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี
สำหรับทารกแรกเกิดมีโอกาสพบเชื้อโรคนี้ในอุจจาระได้เช่นกัน แต่มักไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย
เนื่องจากได้รับการปกป้องและภูมิคุ้มกันจากมารดา โดยเฉพาะในทารกที่กินนมแม่
เพราะในน้ำนมแม่จะมีสารที่ช่วยปกป้องและยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อโรต้าไวรัสระยะฟักตัวประมาณ
24-48 ชั่วโมง ก่อนจะเกิดอาการ
การจำแนกกลุ่มของไวรัส
อาการ
การวินิจฉัย
การรักษา
การป้องกัน
ไวรัสโรตา (Rotavirus) นี้เป็นไวรัสกลุ่มอาร์เอ็นเอ
(Double-stranded RNA virus) ในตระกูล (Family) Reoviridae ซึ่งมี 7 สายพันธุ์ (A, B, C, D, E, F, G) เด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบเกือบทุกคน จะติดเชื้อไวรัสนี้อย่างน้อยสักครั้งหนึ่ง
การติดต่อ
การติดต่อของโรคนี้ เกิดจากการกินสิ่งปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อนี้
เช่น เด็กมือเปื้อนแล้วอมหรือดูดนิ้ว หรือเชื้อ/อุจจาระติดกับของเล่น
หรือเครื่องใช้ จึงเป็นโรคป้องกันค่อนข้างยาก
ดังนั้นจึงมักมีการระบาดของไวรัสโรตาในโรงเรียนเด็กเล็ก หรือสถานเลี้ยงเด็ก
เด็กเล็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อายุน้อยกว่า
3 เดือน จะมีภูมิคุ้มกันต้านทานต่อไวรัสโรตาที่ผ่านรกมาจากแม่ตั้งแต่ตอนอยู่ในครรภ์
และเด็กที่กินนมแม่จะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโรตามากกว่าเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่
จึงมักพบท้องร่วงจากไวรัสโรตาในเด็กสองกลุ่มนี้น้อยกว่าเด็กกลุ่มอื่นๆ
เชื้อไวรัสโรตาที่อยู่ในตัวเด็กที่เป็นโรค จะแพร่ไปให้ผู้อื่นทางอุจจาระได้
ตั้งแต่ประมาณ 1-2
วันก่อนมีอาการท้องร่วงจนกระทั่งประมาณ 10
วันหลังจากเริ่มมีอาการ ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง
จะพบเชื้อในอุจจาระนานกว่า 30
วันหลังจากการติดเชื้อ
ทั้งนี้ เชื้อที่ออกจากร่างกาย ไปติดตามสิ่งของต่างๆ
จะคงทนอยู่นานหลายเดือน หากไม่เช็ดออกด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
ซึ่งเชื้อเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดการติดโรคได้เช่นกัน
กลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดท้องร่วงจากเชื้อโรตาไวรัส
เด็กทุกคนมีโอกาสเกิดโรคนี้ โดยส่วนใหญ่มักเกิดในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบ แต่ยังพบได้จนถึง 5 ขวบ
กล่าวได้ว่าเด็กที่อายุ 5
ขวบเกือบทุกคนมักจะเป็นโรคนี้อย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต
อย่างไรก็ตาม เด็กที่มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่ากลุ่มอื่นคือ
เด็กที่มีโอกาสสัมผัสเชื้อได้มาก เช่น เด็กที่อยู่ในที่ที่มีเด็กรวมกันมากๆ เช่น
โรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก เด็กที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล และเด็กที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายบกพร่อง
(เด็กกลุ่มนี้เมื่อติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงและหายช้ากว่าเด็กกลุ่มอื่นๆ
สาเหตุของโรคท้องร่วงในเด็ก
สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคท้องร่วง/ท้องเสีย/ท้องเดินในเด็ก
เกิดจากการติดเชื้อ ได้แก่ เชื้อไวรัสต่างๆ แต่ที่พบบ่อยคือไวรัสโรตา (Rotavirus) เชื้อแบคทีเรีย เช่น ไทฟอยด์ พาราไท ฟอยด์
เชื้อโรคบิด ซัลโมเนลลา (Salmonella) ชิเกลลา (Shigellosis) อหิวาตกโรค (Cholera)
และอื่นๆ
ในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี
มีปัญหาเรื่องการติดเชื้อทางเดินอาหารเป็นปัญหาหลักคล้ายกันทั่วโลก
จากข้อมูลในประเทศไทย พ.ศ. 2553
ในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี
ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยนอนในโรงพยาบาล
การติดเชื้อทางเดินอาหารเป็นการตรวจพบเป็นอันดับ 2 (รับไว้รักษาในโรงพยาบาล
124,975 ราย)
รองจากการติดเชื้อทางเดินหายใจที่ตรวจพบเป็นอันดับ 1
และมีการเสียชีวิตของเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี
จากการติดเชื้อทางเดินอาหารเป็นอันดับ 10 (49 ราย)
ท้องร่วงในเด็กเป็นปัญหาที่พบบ่อย ทั้งที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกและทั้งที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกทั่วประเทศพบว่า
ท้องร่วงจากการติดเชื้อพบมากในเด็กอายุ 2 ขวบปีแรก
โดยอัตราสูงสุดอยู่ระหว่างอายุ 6 เดือนถึง 18 เดือน เด็กท้องร่วงที่ต้องนอนโรงพยาบาลอัตราสูงสุดจะอยู่ที่อายุ
6 เดือนถึง 15 เดือน
ซึ่งข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า เด็กเล็กมีโอกาสเสี่ยงต่อท้องร่วงมาก
และทำให้เกิดอาการรุนแรงจนอาจเสียชีวิต
อาการ
เมื่อได้รับเชื้อไวรัสโรตาเข้าสู่ร่างกาย จะมีระยะฟักตัวสั้น
คือส่วนใหญ่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง (ระยะเวลาตั้งแต่ 1-7 วัน)
เชื้อเมื่อเข้าสู่ทางเดินอาหารที่ลำไส้เล็กจะทำลายผนังลำไส้เล็ก
ทำให้การดูดซึมน้ำและเกลือแร่ลดลง และเอนไซม์ (Enzyme)
สำหรับย่อยคาร์โบไฮเดรตผิดปกติ
ทำให้มีอาการท้องร่วง/ท้องเสีย/ท้องเดิน ถ่ายเป็นน้ำ ไม่มีมูกหรือเลือดปน
เด็กอาจจะมีไข้
มีน้ำมูกและไอเล็กน้อยนำมาก่อนคล้ายการติดเชื้อไวรัสอื่นๆ
แต่จะมีอาการช่วงสั้นๆแล้วมีอาการทางเดินอาหารตามมา มักมีอาเจียนมากใน 1-2 วันแรก
และท้องร่วงเป็นน้ำพุ่งหลายครั้ง หากไม่ได้รับเกลือแร่เพียงพอจะท้องอืดมาก
อาจถ่ายอุจจาระมากจนก้นแดง อาการอาเจียนจะเป็นในช่วงสองวันแรกแล้วดีขึ้น
แต่ท้องร่วงจะอยู่นานประมาณ 5-7 วัน
การวินิจฉัย
แพทย์วินิจฉัยท้องร่วงจากไวรัสโรตา ได้จาก อาการของเด็ก
และฤดูกาลที่เป็น ทั้งนี้การตรวจหาไวรัส มีข้อจำกัดในห้องปฏิบัติการทั่วไป
ส่วนใหญ่เป็นการตรวจเพื่อการศึกษาวิจัย อย่างไรก็ตาม
แพทย์จะแยกจากการเกิดท้องร่วงจากไวรัส และแบคทีเรีย ชนิดอื่น เช่น
-ไวรัสอะดีโน (Adenovirus
enteritis) มักมีอาการนาน 10-14 วัน
-ไวรัสนอร์วอล์ค (Norwalk
virus) ซึ่งมีระยะฟักตัวสั้นประมาณ
12 ชั่วโมง และมีอาการนาน 1-3 วัน
-หรืออาหารเป็นพิษจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Staphylococcus
aureus ซึ่งมีอาการอาเจียนมาก
การรักษา
เนื่องจากโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส การรักษาคือ
รักษาประคับประคองตามอาการ (ยาปฏิชีวนะ ไม่สามารถฆ่าไวรัสได้ ฆ่าได้แต่แบคทีเรีย)
โดยให้สารละลายเกลือแร่กินให้เพียงพอกับน้ำ/เกลือแร่ที่เสียไปกับการอาเจียนและท้องร่วง/ท้องเสีย/ท้องเดินซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการรักษา
หากเด็กกินไม่ได้ ต้องให้น้ำ/เกลือแร่ทดแทนทางหลอดเลือดดำ
โดยปกติเด็กมักจะไม่ค่อยยอมกิน หลักการที่ใช้ได้ผลส่วนมากคือ พ่อแม่
ผู้เลี้ยงดูเด็ก ต้องเข้าใจและพยายาม ไม่ยอมกินต้องพยายามป้อนให้ได้ตลอด
อาเจียนออก ก็ป้อนใหม่ ซึ่งอาการอาเจียนมักเกิดอยู่ประ มาณไม่เกิน 2 วัน
เมื่อมีไข้ รักษาอาการไข้โดยเช็ดตัวและให้ยาลดไข้
ให้ยาขับลมหากปวดท้องหรือท้องอืด ซึ่งการให้เกลือแร่ที่เพียงพอจะช่วยลดอาการท้องอืด
เพราะมีเกลือแร่โปแตสเซียม (Potas sium) เพียงพอที่ช่วยทำให้ลำไส้บีบตัวได้ดีขึ้น
หากเด็กหยุดอาเจียน ให้รับประทานข้าวต้ม หรือโจ๊กได้
หากเด็กถ่ายเป็นน้ำหลายวันและเด็กดื่มนมวัวอาจเกิดภาวะขาดเอนไซม์แลคเตสที่ใช้ย่อยนมวัว
ควรเปลี่ยนเป็นนมที่ไม่มีแลคโตส หรือให้นมถั่วเหลือง ในเด็กที่ให้นมแม่
ให้นมแม่ต่อไปโดยไม่ต้องเปลี่ยนนม
การรักษาที่ดีคือ ให้น้ำและเกลือแร่ทดแทนให้เพียงพอและให้ทันเวลา
เด็กจะไม่ซึม ปัสสาวะได้ดี ไม่หอบเหนื่อย
ปัสสาวะ เป็นสิ่งชี้วัดว่าน้ำในร่างกายเพียงพอหรือไม่ ควรติดตามเรื่องการปัสสาวะของเด็ก
หากเด็กปัสสาวะออกดี (ภายใน 4 ชั่วโมง ควรปัสสาวะอย่างน้อยหนึ่งครั้ง
และปริมาณไม่ควรน้อยกว่า 0.5 มิลลิลิตร ต่อน้ำหนักเด็ก 1 กิโลกรัม ต่อ 1 ชั่วโมง)
แสดงว่าทดแทนภาวะเสียน้ำได้ดี ซึ่งต้องทดแทนเกลือแร่ที่เสียไปด้วย เกลือแร่ที่มีขายเป็นซองใช้ได้
ดูการผสมให้ถูกต้องว่า 1 ซองผสมน้ำเท่าใด (อ่านจากฉลากยา หรือที่เขียนไว้บนซองยา)
หากหาเกลือแร่ไม่ได้ ให้ทำน้ำเกลือแร่เอง โดยใช้น้ำตาลทราย 3 ช้อนชา
(ช้อนยาเด็ก 3 ช้อนชาได้เท่ากับ 15 กรัม) ผสมน้ำสะอาด 750 มิลลิลิตร
(ขวดน้ำปลาที่มีคอคอด หรือ ใช้ขวดนม 8 ออนซ์ 3 ขวด กับอีก 1 ออนซ์)
ใส่เกลือประมาณครึ่งช้อนชาต้มให้เดือด
และทิ้งไว้ให้เย็นหรือใช้น้ำข้าวเติมเกลือและน้ำตาล หรือ ป้อนด้วยน้ำแกงจืด หากเด็กไม่ยอมกิน ก็ใช้ป้อนด้วย
น้ำอัดลม สไปรท์ (Sprite) หรือเซเวนอัพ (Seven up) หรือเครื่องดื่มประเภทเดียวกัน
ผสมน้ำอีกหนึ่งเท่าตัว เขย่าฟองออกก่อน ป้อนเด็กบ่อยๆ
การป้องกัน
การป้องกันโรคท้องร่วงจากโรต้าไวรัสที่สำคัญ
คือ
- ล้างมือ
ฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร หลังเข้าห้องน้ำและเปลี่ยนผ้าอ้อม
- การดูแลทำความสะอาดสถานที่
ของเล่น ของใช้และภาชนะทุกชิ้น หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปสถานที่แออัด
- ดูแลสุขอนามัย
อาหารและดื่มน้ำที่สะอาด
- เมื่อบุตรหลานป่วยด้วยโรคท้องร่วง
ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
- การให้วัคซีนโรต้า
ซึ่งสามารถลดความรุนแรงของโรค
และช่วยลดโอกาสที่เด็กต้องนอนพักรักษาในโรงพยาบาลลงได้
ประเทศไทยในปัจจุบัน วัคซีนโรต้าเป็นชนิดรับประทาน โดยใช้หยอดทางปาก
จำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 2 เดือน และครั้งที่ 2 เมื่อเด็กอายุ 4 เดือน (วัคซีนชนิดนี้ต้องให้เร็วตามช่วงอายุ
เนื่องจากเด็กเล็กมีโอกาสติดเชื้อได้เร็ว ในเด็กอายุ < 6 เดือน)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น